ทดสอบใช้งานระบบ 4G กับ อุปกรณ์ Mikrotik Router และ 4G USB แบบประกอบเอง

Suttipong Tanuphone
5 min readOct 8, 2023

--

สำหรับในบทความนี้จะเกี่ยวกับการใช้งาน Mikrotik Router บนเครือข่าย 4G หรือ LTE โดยตรง โดยเน้นทดสอบการใช้งานผ่าน Mikrotik Router รุ่นที่รองรับ 4G และ ต่อผ่าน Card 3G/4G รุ่นต่าง ๆ ทั้งด้านการรับสัญญาณและการทดสอบ Speed Test ผ่าน Wireless เพื่อการนำไปใช้งานจริงให้ได้ประสิทธิภาพจริง ๆ

ทำไมต้องเป็น Mikrotik Router ???

ถามว่าทำไมต้องใช้เป็น Mikrotik Router ในเมื่อในท้องตลาดนั้นมี 4G Router รุ่นต่าง ๆ มากมาย ราคาบางตัวอาจจะต่ำกว่า 1,000 บาท ด้วยซ้ำไป ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าอุปกรณ์ Mikrotik นั้นมีความสามารถหลากหลาย Mikrotik เป็นอุปกรณ์ Router ประเภทที่เรียกว่าสามารถจัดการได้ ไม่ได้เป็น Router พร้อมใช้ ความสามารถโดดเด่นซึ่ง Router ทั่วไปหรือ Router หลักหมื่นไม่สามารถทำได้คือการทำ VPN ไม่ว่าจะเป็น VPN Server หรือ VPN Client ตัว Mikrotik Router นั้นสามารถทำได้หมด และทำได้ดีอีกด้วย หากแต่ผู้ใช้นั้นต้องศึกษาการใช้งานจึงจะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพตัวอย่าง 4G Router ของ Mikrotik รุ่น RB912R-2nD-LTm หรือเรียกสั้น ๆ ว่า LtAP mini

สำหรับ 4G Router ของ Mikrotik ที่นำมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นรุ่นที่มีขายทั่วไปในตลาดเมืองไทย ณ วันที่ 07/10/2566 มี 2 รุ่น รุ่นเล็ก คือ LtAP mini เป็น 4G Router ใช้ Card R11e-LTE เป็น LTE Category 4 ความเร็วสูงสุด 150/50 Mbps. และอีกรุ่น RBD53GR-5HacD2HnD&R11e-LTE6 หรือ hAP ac3 เป็น LTE Category 6 ความเร็วสูงสุด 300/50 Mbps.

ภาพตัวอย่าง 4G Router ของ Mirkrotik รุ่น RBD53GR-5HacD2HnD&R11e-LTE6 หรือ hAP ac3

ความเร็วของ 4G Router นั้นขึ้นอยู่กับอะไร???

สำหรับหลาย ๆ คนคงได้เคยใช้ 4G Router มาบ้างแล้วและอาจจะแปลกใจว่าทำไม Speed มันไม่ได้เหมือนมือถือที่เราใช้ (ในกรณีที่ซิมไม่มีจำกัดความเร็วสูงสุด) ที่มือถือในโหมด 4G อาจจะทดสอบได้ความเร็ว 70–100 Mbps. แต่ใช้ผ่าน 4G Router ทดสอบได้ความเร็วเพียง 15–20 Mbps. ปัจจัยที่จะใช้งานอินเตอร์เน็ต 4G ได้ความเร็วสูงสุดมีดังต่อไปนี้

  1. แพ็คเกจของซิมการ์ดที่เราใช้งาน ซึ่งต้องไม่เป็นแบบจำกัดความเร็ว แต่ถ้าเป็นแบบจำกัดความเร็ว แน่นอนว่าความเร็วสูงสุดก็ตามแพ็คเกจที่เราใช้งาน
  2. พื้นที่ใช้งาน แน่นอนว่าหากเราไปอยู่ในย่านที่มีคนใช้งานมาก ๆ ความเร็วในการใช้งานย่อมลดลงตามจำนวนคนใช้งาน ซึ่งปัญหานี้อาจจะต้องลองเปลี่ยนค่ายผู้ให้บริการอาจจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาที่ปลายเหตุได้
  3. สัญญาณที่รับได้ ในข้อนี้จริง ๆ ก็สัมพันธ์กับพื้นที่ใช้งาน แต่สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนมองข้ามคือความสามารถในการรับสัญญาณของอุปกรณ์ ซึ่งถ้าเป็นเครื่องมือถือก็คงทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเป็น 4G Router หรือ 4G USB Dongle นั้นส่วนมากจะสามารถต่อเสารับสัญญาณเพิ่มได้ ทำให้การรับสัญญาณนั้นดีขึ้นไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าการที่รับสัญญาณได้มากย่อมมีผลต่อความเร็วในการใช้งานแน่นอน
  4. อุปกรณ์ที่ใช้ในการรับสัญญาณว่าเป็น LTE Category ไหน ไม่ว่าจะเป็นมือถือเรา หรือว่าเป็น 4G Router หรือ 4G USB Dongle ล้วนจะมีบอกว่าเป็น LTE CAT ไหน เช่น CAT3, CAT4 ไปเรื่อย ๆ ในปัจจุบันน่าจะถึง CAT20 แล้ว ซึ่งความเร็วของ CAT ต่าง ๆ เป็นไปตามตารางเปรียบเทียบ ซึ่งถ้ามือถือหรืออุปกรณ์เราอยู่ที่ CAT4 ก็สามารถใช้งานความเร็วสูงสุดได้ 150/50 Mbps. นั่นเอง
  5. รูปแบบการเชื่อมต่อ หากข้อ 1–4 นั้น เราได้มาตรฐานทดสอบ Test Speed จากเครื่องมือถือที่เราใช้งานได้ความเร็วถึง 70–100 Mbps. แต่ทำไมพอทดสอบผ่าน 4G Router แล้วได้กลับทดสอบ Speed เพียง 15–20 Mbps. ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าในการทดสอบนั้นเราเชื่อมต่อกับ 4G Router ผ่านทางสาย LAN หรือ Wireless ซึ่งถ้าเชื่อมต่อผ่าน Wireless ของ 4G Router ย่อมแปรผันได้ตามความสามารถของ Wireless ของตัว Router อีก ซึ่งถ้า Router นั้น มี Band 5 GHz. ก็ให้ลองทดสอบที่ 5 GHz. แต่ถ้า Router ที่ใช้ทดสอบมีเพียง 2.4 GHz. แน่นอนว่าทดสอบเท่าไรก็คงได้ความเร็วไม่ถึง 100 Mbps. ครับ ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปคงได้เพียง 20–50 Mbps. สำหรับ Wireless Band 2.4 GHz. ครับ
ตารางเปรียบเทียบความเร็วของ LTE Category ต่าง ๆ

เริ่มการทดสอบที่ 1 ทดสอบจากมือถือเพื่อใช้อ้างอิงความเร็ว

สำหรับการทดสอบแรกผมใช้มือถือ 5G แต่จะทดสอบใช้งานที่ 3G และ 4G เพื่อใช้เป็นตัวอ้างอิงความเร็วกับอุปกรณ์ Router ที่จะทดสอบ และแน่นอนว่ามือถือเครื่องนี้ทำความเร็วในระบบ 5G ได้มากกว่า 200 Mbps. ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดสอบที่ระบบ 3G และ 4G ได้อย่างไม่มีปัญหา และสำหรับทุกการทดสอบจะอ้างอิงค่าสัญญาณที่รับได้จากตัวอุปกรณ์ด้วย เพื่อเปรียบเทียบค่าการรับสัญญาณในทุก ๆ การทดสอบ

ทดสอบความเร็วที่อุปกรณ์มือถือผ่านระบบ 3G

ภาพค่าการรับสัญญาณในระบบ 3G ที่เครื่องมือถือรับได้
ภาพค่า Speed Test ที่เครื่องมือถือทำได้ผ่านระบบ 3G

ทดสอบความเร็วที่อุปกรณ์มือถือผ่านระบบ 4G

ภาพค่าการรับสัญญาณในระบบ 4G ที่เครื่องมือถือรับได้
ภาพค่า Speed Test ที่เครื่องมือถือทำได้ผ่านระบบ 4G

จากผลการทดสอบผ่านเครื่องมือถือที่ระบบ 3G รับสัญญาณได้ RSSI = -77 dBm และได้ความเร็วที่ 13.1/3.98 Mbps. และที่ระบบ 4G รับสัญญาณได้ RSRP = -86 dBm และได้ความเร็วที่ 32.3/10.2 Mbps. สำหรับอุปกรณ์มือถือที่ผมใช้ทดสอบนี้ ถ้าสถานะการรับสัญญาณเปลี่ยนจาก 4G เป็น 4G+ จะทดสอบได้ความเร็ว Download มากกว่า 200 Mbps. เลยทีเดียว ซึ่งเข้าใจว่าในโหมด 4G+ จะสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 300 Mbps. แต่ถ้าเป็น 4G ธรรมดาก็ 150 Mbps. ครับ

ภาพค่า Speed Test ที่เครื่องมือถือทำได้ผ่านระบบ 4G+

การทดสอบที่ 2 ทดสอบจากอุปกรณ์ Mikrotik LtAP mini

สำหรับการทดสอบที่ 2 จะใช้เป็นอุปกรณ์ Router Mikrotik LtAP mini ซึ่งตัวนี้ทำงานที่ CAT4 ความเร็วสูงสุด 150/50 Mbps. และตัว Wireless เป็น Band 2.4 GHz. โดยจะใช้เครื่องมือถือทดสอบความเร็วผ่าน Wireless ของ LtAP mini ในระบบ 3G และ 4G ซึ่งค่าสัญญาณ RSSI ของระบบ 3G และ RSRP ของระบบ 4G จะนำมาจากค่าที่อ่านได้จาก Mikrotik LtAP mini ซึ่งการทดสอบนี้ใช้เสารับสัญญาณภายในตัว LtAP mini

ภาพค่าการรับสัญญาณที่อ่านได้จาก Mikrotik LtAP mini ที่อ่านได้ในระบบ 3G
ภาพค่า Speed Test ที่ Mikrotik LtAP mini ทำได้ผ่านระบบ 3G (H+)

จะเห็นว่าที่ระบบ 3G ตัว LtAP mini นั้นรับสัญญาณผ่านสายอากาศภายในได้ดีกว่าค่าสัญญาณจากเครื่องมือถือค่อนข้างมาก ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งการวางตัว LtAP mini ด้วยเหมือนกัน วางคนละทีกันรับสัญญาณได้ไม่เท่ากันครับ ส่วนความเร็วก็มาแบบเกิน ๆ นิด ๆ ซึ่งในโหมด 3G ไม่น่าจะทดสอบได้มากกว่า 14.4 Mbps.

ต่อไปเป็นการทดสอบ LtAP mini ในระบบ 4G

ภาพค่าการรับสัญญาณที่อ่านได้จาก Mikrotik LtAP mini ที่อ่านได้ในระบบ 4G
ภาพค่า Speed Test ที่ Mikrotik LtAP mini ทำได้ผ่านระบบ 4G

จะเห็นว่าที่ระบบ 4G ตัว LtAP mini ทดสอบได้ความเร็วที่สูงกว่าเครื่องมือถือ ซึ่งจริง ๆ แล้วส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการทดสอบด้วย ซึ่งในการทำบทความนี้ผมใช้เวลาค่อนข้างนานทดสอบต่างเวลากัน ก็อาจจะได้ความเร็วที่ต่างกันก็ได้ และจริง ๆ แล้วความเร็วอาจจะสูงกว่านี้ก็ได้ แต่อาจจะถูกจำกัดที่เป็นการทดสอบ Speed Testผ่าน Wireless 2.4 GHz. ของ LtAP mini

การทดสอบที่ 3 ทดสอบโดยใช้ 4G แบบประกอบเอง

สำหรับในการทดสอบนี้ผมใช้ Card 4G แบบ mini PCI Express ที่มีขายในตลาดประเทศจีน ซึ่งมีมากมายหลายรุ่น โดยในการทดสอบนี้ผมจะใช้ Card ยี่ห้อ Huawei รุ่น ME909s-821 ซึ่งเป็น 4G Category 4 ทำความเร็วได้สูงสุด 150/50 Mbps. ต่อกับ Mikrotik Router รุ่น hAP ac2 ซึ่ง Mikrotik รุ่นนี้ไม่มี 4G ภายใน แต่สามารถต่อกับ Aircard หรือ 4G USB Dongle ได้

ภาพการประกอบ Card 4G ของ Huawei แบบ mini PCI Express ต่อเข้ากับ USB Interface

สำหรับ 4G USB แบบประกอบเองนี้ต่อซื้อ Card มาต่อกับชุด Interface ที่แปลงจาก mini PCI Express มาเป็น USB ไม่ว่าจะเป็น Micro USB หรือ USB Type-C ก็ได้

ภาพการต่อ Mikrotik hAP ac2 เข้ากับ 4G USB ที่ประกอบขึ้นเอง

สำหรับอุปกรณ์ Mikrotik หลาย ๆ รุ่นที่ราคาพันกว่าบาทขึ้นไปส่วนมากก็จะมี Port USB มาให้อยู่แล้ว ซึ่งสามารถต่อกับ 4G USB ที่ประกอบขึ้นเองได้ ซึ่งเมื่อเสียบเข้าไปแล้วตัว Mikrotik จะเห็นเป็น Interface LTE โดยอัตโนมัติ (เฉพาะการ์ดบางรุ่น)

ภาพค่าการรับสัญญาณ 3G/4G ที่อ่านได้จาก 4G USB ที่ประกอบเอง

จากรูปค่าสัญญาณจะเห็นว่าตัว 4G Card ของ Huawei รุ่นนี้จะแสดงผลทั้งค่า RSSI และ RSRP อยู่ในหน้าเดียวกัน ซึ่งผลปรากฏว่าในระบบ 3G รับสัญญาณได้เท่ากับ LtAP mini แต่ในระบบ 4G รับสัญญาณได้น้อยกว่าเล็กน้อย

ภาพค่า Speed Test ในระบบ 3G จาก 4G USB แบบประกอบเองผ่าน Wireless 2.4 GHz. ของ hAP ac2
ภาพค่า Speed Test ในระบบ 4G จาก 4G USB แบบประกอบเองผ่าน Wireless 2.4 GHz. ของ hAP ac2

จากการทดสอบในระบบ 3G ตัว 4G USB ประกอบเองทำความเร็วได้น้อยกว่า LtAP mini เล็กน้อย แต่ที่ระบบ 4G นั้น ทำความเร็ว Download ได้มากกว่า และในภาพต่อไปนี้จะเห็นว่าหากเราทดสอบผ่าน Wireless 5 GHz. นั้นจะทำความเร็วได้มากกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเวลาเราใช้ 4G Router บางตัวแล้วความเร็วไม่มากนัก คือได้เพียง 20–30 Mbps. เท่านั้น

ภาพค่า Speed Test ในระบบ 4G จาก 4G USB แบบประกอบเองผ่าน Wireless 5 GHz. ของ hAP ac2

จากรูปจะเห็นว่าเราใช้อุปกรณ์ชุดเดียวกัน แต่หากทดสอบผ่าน Wireless 5 GHz. แล้วทำให้ได้ความเร็วในระบบ 4G เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเลยทีเดียว

ผลสรุปการทดสอบ

จากการทดสอบทั้ง 3 อุปกรณ์ จะเห็นว่าที่ระบบ 3G นั้นทั้งการรับสัญญาณและความเร็วไม่ต่างกันมาก แต่ในระบบ 4G มีปัจจัยที่ทำให้ได้ความเร็วที่ต่างกันหลายอย่าง เช่น มือถือที่เชื่อมต่อขณะนั้นเชื่อมต่อเป็น 4G หรือ 4G+ ซึ่งถ้า 4G ก็อาจจะได้ความเร็วไม่ถึง 50 Mbps. แต่ถ้าเป็น 4G+ ก็จะได้ความเร็วถึง 200 Mbps. และเช่นกันถ้าเป็น Mikrotik LtAP mini หรือ 4G USB + Mikrotik hAP ac2 นั้นก็อาจจะทำความเร็วได้ถึง 100 Mbps. ถ้าเชื่อมต่อผ่านสาย LAN หรือ Wireless 5 GHz. แต่ถ้าเป็นการทดสอบผ่าน Wireless 2.4 GHz. ก็อาจจะได้ความเร็วไม่เกิน 50 Mbps. แม้ตัว Card 4G อาจจะได้ความเร็ว 100 Mbps. แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านสัญญาณ Wireless จึงทำให้ได้ความเร็วจำกัดไปด้วย

ใช้ Mikrotik ที่มี 4G ในตัวหรือใช้แบบ USB ประกอบเองดีกว่ากัน

ก็ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับการใช้งานด้วยครับ ถ้าลักษณะงานต้องการให้จบภายในตัวเดียวกันก็คงต้องใช้ LtAP mini หรือรุ่นที่มี 4G ในตัว แต่สำหรับคนที่ต้องการประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลายก็แนะนำเป็น 4G USB แบบประกอบเอง เพราะสามารถย้ายไปเสียบกับระบบอื่นได้อีก เช่น เสียบกับ Windows 10 ก็จะมองเห็นเป็น Mobile Broadband เลย หรือถ้าในระบบที่ใช้อยู่มี Mikrotik อยู่แล้วอันนี้ก็ยิ่งสะดวกและประหยัดเนื่องจากสามารถประกอบ 4G USB แล้วนำไปเสียบใช้งานได้เลย

สำหรับผู้ที่สนใจ 4G USB ชุดสำเร็จสามารถติดต่อเข้ามาได้ครับ Line ID : aisfttx

--

--